ประวัติ ของ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มีนามเดิมว่า นายบุนนาค เกิดเมื่อ พ.ศ. 2281[1] เป็นบุตรของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) (บุตรชายของเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) กับท่านแฉ่ง) ที่จักรีวังหน้าในกรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มารดาชื่อว่าบุญศรี เป็นภรรยาของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) ซึ่งได้ประทานมาจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์[2] เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มีพี่ชายต่างมารดาซึ่งเกิดกับภรรยาอีกคนหนึ่งของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) คือนายบุญมา (ต่อมาคือเจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา)) พระยาจ่าแสนยากร (เสน) นำบุตรชายทั้งสองคือนายบุญมาและนายบุนนาคเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต โดยนายบุญมาได้รับตำแหน่งเป็นหลวงมหาใจภักดิ์ และนายบุนนาคเป็นนายฉลองไนยนาถ[2] เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตในพ.ศ. 2301 กรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้าอุทุมพรจึงขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระยาจ่าแสนยากร (เสน) บิดาของนายบุนนาคได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาเสนาสมุหกลาโหม เป็นที่รู้จักในนามว่า”เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร” จากนิวาสสถานซึ่งอยู่บริเวณวัดสามวิหารในกรุงศรีอยุธยา นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) สมรสกับท่านผู้หญิงลิ้ม ซึ่งเป็นธิดาของพระยาธิเบศร์บดี มีบุตรด้วยกันชื่อว่าตานี (ต่อมาคือเจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ 1)

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) ลี้ภัยไปยังเมืองเพชรบูรณ์ ในขณะที่นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) และท่านผู้หญิงลิ้มภรรยาเดินทางไปยังเมืองราชบุรีไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ต่อมานายบุนนาคและท่านลิ้มภรรยาเดินทางกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขุดค้นสมบัติของบิดาที่ได้ฝังไว้ ขนสมบัติล่องเรือลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงปากคลองบางใหญ่[2] (คลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน) ถูกโจรผู้ร้ายเข้าปล้นสะดม นายบุนนาคกระโดดลงน้ำเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ท่านลิ้มภรรยาเสียชีวิตและทรัพย์ที่ขุดมาได้ถูกโจรนำไปหมด

นายบุนนาคสูญเสียทั้งภรรยาและทรัพย์สิน ท่านผู้หญิงนาค (ต่อมาคือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ภรรยาของเจ้าพระยาจักรี จึงให้การอุปถัมภ์แก่นายบุนนาค[3] โดยท่านผู้หญิงนาคประกอบพิธีสมรสให้แก่นายบุนนาคกับท่านนวล (ต่อมาคือเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล) ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงนาค ในสมัยกรุงธนบุรี นายบุนนาคไม่ได้เข้ารับราชการ เป็นทนายหน้าหอของเจ้าพระยาจักรีเพียงเท่านั้น[1]

สงครามเก้าทัพ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งนายบุนนาคขึ้นเป็นพระยาอุไทยธรรม เจ้ากรมภูษามาลา ในคำปรึกษาตั้งข้าราชการระบุว่านายบุนนาคนั้น“ทำราชการมาช้านาน ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามไปปราบอริราชข้าศึกนานานุประเทศมีชัยชำนะหลายครั้ง มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้นายบุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม”[4] ส่วนนายบุญมาผู้เป็นพี่ชายต่างมารดานั้นได้เป็นที่พระยาตะเกิง ในพ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ร่วมกับพระยาพระคลัง (หน) ไปตั้งรับทัพพม่าซึ่งรุกรานมาจากทางทิศเหนือ อยู่ที่เมืองชัยนาท เพื่อคอยระวังทัพพม่าที่จะยกมาทางด่านระแหง (อำเภอเมืองตากในปัจจุบัน) และต่อมาในปีพ.ศ. 2329 จึงมีพระราชโองการให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) และพระยาพระคลัง (หน) ยกทัพติดตามเสด็จกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพไปตีทัพพม่าที่เมืองระแหง[5] เมื่อยกทัพไปถึงกำแพงเพชรกรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระบัญชาให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) และพระยาพระคลัง (หน) ยกทัพนำไปก่อน ปรากฏว่าเมื่อทัพหลักของพม่าที่ปากน้ำโพนครสวรรค์ถูกตีแตกไปแล้วนั้น ทัพพม่าที่ระแหงจึงถอยกลับไปก่อนโดยมิได้สู้รบ[5] หลังจากศึกสงครามเก้าทัพ พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช เสนาบดีกรมนครบาล

ศึกเมืองทวาย

ในพ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งทัพเข้าตีเมืองทวาย[5] โดยให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) สมุหนายก เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหกลาโหม และพระยายมราช (บุนนาค) เป็นทัพหน้า ยกทัพข้ามผ่านด่านวังปอ (ผ่านทางเขาท่าตะกั่ว แม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นภูเขาสูงหนทางยากลำบาก เมื่อทัพหน้าสามารถเข้ายึดเมืองกลิอ่องได้แล้ว ทัพหลวงจึงเสด็จเข้ามาล้อมเมืองทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงล้อมเมืองทวายอยู่เป็นเวลาครึ่งเดือนยังไม่ประสบชัยชนะทรงเลิกทัพจากเมืองทวาย[5]

ต่อมาในปีพ.ศ. 2334 แมงจันจาเจ้าเมืองทวายกบฏขึ้นต่อพระเจ้าปดุงแห่งพม่าและหันมาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพจำนวน 5000 คน[5] ไปตีเมืองทวาย เมื่อพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพถึงเมืองทวายแล้วแมงจันจาเจ้าเมืองทวายออกมาอ่อนน้อม พระยายมราช (บุนนาค) ส่งพระองค์เจ้าชีและแมงจันจาเจ้าเมืองทวายมายังกรุงเทพฯ และตั้งค่ายรักษาเมืองทวายอยู่นอกเมือง ฝ่ายสยามจึงเข้าครอบครองเมืองทวายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ในพ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริที่จะกรีฑาทัพไปตีพม่าต่อไปจากเมืองทวาย[5] จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพไปสมบทกับพระยายมราชที่ทวาย จากนั้นจึงทรงยกทัพหลวงเสด็จมายังเมืองทวาย

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ตั้งค่ายรักษาเมืองทวายอยู่นอกเมือง ในเวลานั้นเองพระเจ้าปดุงส่งทัพพม่าเข้ารุกรานเมืองทวาย เมื่อทัพพม่าเข้าประชิดเมืองทวายชาวเมืองทวายก่อการกบฏขึ้นต่อสยามและหันกลับไปเข้ากับฝ่ายพม่า ทัพพม่า-ทวายยกทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยายมราช (บุนนาค) อย่างไม่ทันตั้งตัว เสนาบดีทั้งสามไม่อาจต้านทานทัพพม่าได้จึงถอยร่นไปทางทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามร้องขอเข้าไปตั้งหลักในค่ายทัพหน้าของทัพหลวง แต่พระอภัยรณฤทธิ์ผู้บัญชาการทัพหน้าของทัพหลวงปฏิเสธไม่ให้เสนาบดีทั้งสามและกองกำลังเข้ามาในค่าย เนื่องจากเกรงว่าหากทัพพม่ายกติดตามเสนาบดีทั้งสามเข้ามาในค่าย ทัพหน้าจะถูกตีแตกและทัพพม่าลงไปถึงทัพหลวง เสนาบดีทั้งสามจึงต่อสู้กับทัพพม่าอยู่นอกค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) และพระยายมราช (บุนนาค) สามารถรอดมาได้ แต่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ (พงศาวดารพม่าระบุว่าถูกสังหารในที่รบ) จากนั้นทัพพม่าจึงเข้าตีค่ายของพระอภัยรณฤทธิ์แตกพ่ายไป เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเลิกทัพถอยไปอยู่ที่ไทรโยค[5]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพิโรธพระอภัยรณฤทธิ์ว่าเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เสนาบดีคนสำคัญ จึงทรงลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตพระอภัยรณฤทธิ์เสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)[4] เจ้าเมืองถลางขึ้นเป็นสมุหกลาโหมคนใหม่ แต่เจ้าพระยาสุรินทรราชาไม่รับ จึงทรงแต่งตั้งให้พระยายมราช (บุนนาค) ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาสมุหกลาโหมแทนที่เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) แล้วเลื่อนพระยาตะเกิง (บุญมา) พี่ชายต่างมารดาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ขึ้นเป็นที่พระยายมราชแทน

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีพ.ศ. 2348 ในรัชกาลที่ 1 อายุ 68 ปี ซึ่งในปีพ.ศ. 2348 นั้น มีเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ถึงแก่อสัญกรรมถึงสามคน[4]ได้แก่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)